Thursday, July 2, 2015

ไพล สมุนไพรบรรเทาออฟฟิศซินโดรม ที่ชาวออฟฟิศคู่ควร

ไพล สมุนไพรบรรเทาออฟฟิศซินโดรม ที่ชาวออฟฟิศคู่ควร


  ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตของชาวออฟฟิศทั้งหลาย บรรเทาได้ด้วยไพล สมุนไพรไทยที่ชาวออฟฟิศคู่ควร

          วิธีบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม โรคที่ชาวออฟฟิศส่วนใหญ่คุ้นเคยกับความทรมานนี้เป็นอย่างดี วันนี้เราจะเป็นไทจากอาการออฟฟิศซินโดรมกันด้วย ไพล สมุนไพรที่ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กระซิบข้อดีมาในนิตยสาร happy+ ว่า ไพล ช่วยบรรเทาอาการออฟิศซินโดรมได้อยู่หมัด !   

          ออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่พบในคนวัยทำงานที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหม­­าะสม เช่น การนั่งทำงานในอิริยาบถเดิม ๆ ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ส่วนบางรายที่มีอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนอยู่แล้ว หากทำงานในอิริยาบถที่ผิดจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น


          ปัจจุบันพบว่า คนเมืองมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการทำงาน คือ มีอิริยาบถในการทำงานไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น นั่งหลังค่อมทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลามากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งอาจยังส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมตามมาด้วย

          การอักเสบของกล้ามเนื้อมีอาการที่แสดงให้เห็นชัด ๆ อยู่ 4 อย่าง คือ ปวด บวม แดง และร้อน ซึ่งจะสังเกตอาการได้ชัดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบที่เกิดขึ้น ส่วนการบรรเทาอาการอักเสบและการปวดก็มีตั้งแต่ง่าย ๆ เช่น การเปลี่ยนอิริยาบถท่าทางเดิม ๆ การออกกำลังกายเพื่อบรรเทาอาการปวด ซึ่งสามารถปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดได้ การนวด เพื่อคลายกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม การประคบสมุนไพรลดการอักเสบ การใช้ยาแผนปัจจุบันและสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการ

          สมุนไพรที่นำมาใช้ในโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่จะมีสรรพคุณลดการอักเสบและอาการปวด หรือสมุนไพรบางชนิดอาจช่วยคลายกล้ามเนื้อ แต่สำหรับ "ไพล" ได้ถูกยกให้เป็นสมุนไพรของไทย เนื่องจากคนไทยมีการใช้ไพลมาแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะกับโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก


          "ไพล" เป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี มีลำต้นได้ดินชนิดเหง้า เนื้อในเหลืองแกมเขียว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สีไพล" มีกลิ่นเฉพาะตัว รสเผ็ดร้อน พบปลูกเป็นพืชสมุนไพรในทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Zingibermontanum (J.Koenig) Link ex Dietr. อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย โดยสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ สารกลุ่ม Phenylbutanoids ได้แก่ สาร D มีการทดลองทางคลินิกแบบ Randomized Double Binded Controlied Study เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของครีมไพล จึงสามารถลดอาการบวมและอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก
          
          "ไพล" ช่วยยับยั้งอาการอักเสบด้วยกระบวนการเดียวกับยาแก้ปวดและยาลดกา­­รอักเสบแผนปัจจุบัน นอกจากนี้น้ำไพลคั้นยังแสดงฤทธิ์ยาชาเฉพาะที่อีกด้วย

          ในปัจจุบันผู้ผลิตยาได้นำสารสกัดไพลมาผสมในครีม พัฒนาเป็นยาใช้ภายนอก ใช้ทาบรรเทาอาการปวด แต่คนโบราณมีการนำไพลมาทอดเป็นน้ำมันไพล ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ โดยมีสูตรการทำดังนี้


ส่วนประกอบน้ำมันไพล

           หัวไพลสดหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ 2 ถ้วยตวง
           น้ำมันมะพร้าว 1 ถ้วยตวง
           การบูร 1 ช้อนชา
           ดอกกานพลู 1 ช้อนชา

วิธีทำ

           เทน้ำมันมะพร้าวลงกระทะแล้วยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำมันร้อนจัดให้ใส่ไพลที่หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ เตรียมไว้แล้วลงไปทอดในน้ำมัน

           ลดไฟลงให้ร้อนปานกลาง ทอดจนไพลกรอบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ (ระวังไหม้) จะได้น้ำมันเป็นสีเหลืองใส ช้อนเอาเนื้อไพลออก

           จากนั้นตำกานพลูให้ป่น นำลงทอดในน้ำมันต่อ และลดไฟให้เหลือไฟอ่อน ๆ เพื่อกันไม่ให้น้ำมันที่อยู่ในกานพลูระเหยไป

           ทอดประมาณ 10 นาที แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง พอน้ำมันอุ่นจึงผสมการบูรลงในน้ำมัน แล้วเทลงภาชนะที่สามารถปิดฝาได้สนิท เพื่อป้องกันการระเหย

           เมื่อน้ำมันเย็นดีแล้ว ให้เขย่าหรือใช้ช้อนคนจนเข้ากันดี แล้วแบ่งบรรจุขวดเล็กปิดฝาให้แน่น เพื่อนำไปใช้ต่อไป


สรรพคุณและวิธีใช้

           แก้แผลช้ำ ให้ทาน้ำมันเพียงบาง ๆ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น (ก่อนทาน้ำมันควรทำความสะอาดแผลทุกครั้ง)

           แก้เคล็ด-บวมช้ำ ทาน้ำมันให้ทั่วบริเวณที่มีอาการ ใช้ฝ่ามือนวดเบา ๆ ควรทาน้ำมันสัก 3-4 ครั้งต่อวัน

           แก้ข้อบวมและเหน็บชา ควรทาน้ำมันให้โชก แล้วใช้ขวดใส่น้ำร้อนห่อด้วยผ้า ประคบบริเวณที่มีอาการวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาที่มีอาการปวดชา

          ชาวออฟฟิศคนไหนมีอาการออฟฟิศซินโดรมลองบรรเทาอาการปวดทรมานด้วย­­ไพลกันดูนะคะ 


ขอบคุณข้อมูลจาก : http://health.kapook.com/